ผู้เขียน หัวข้อ: ตรวจสุขภาพ: กระเพาะปัสสาวะอักเสบ (Cystitis)  (อ่าน 27 ครั้ง)

siritidaphon

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 510
    • ดูรายละเอียด
ตรวจสุขภาพ: กระเพาะปัสสาวะอักเสบ (Cystitis)
« เมื่อ: วันที่ 11 เมษายน 2024, 20:42:22 น. »
กระเพาะปัสสาวะอักเสบ เป็นโรคที่พบได้บ่อย พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายหลายเท่า เนื่องจากท่อปัสสาวะของผู้หญิงสั้น และอยู่ใกล้ทวารหนักซึ่งเป็นแหล่งที่มีเชื้อโรคมาก เชื้อโรคจากบริเวณดังกล่าวจึงเข้าทางท่อปัสสาวะของผู้หญิงได้ง่ายกว่าผู้ชาย

ผู้หญิงแทบทุกคนมีโอกาสเป็นโรคนี้ ตั้งแต่วัยเด็กจนถึงวัยสูงอายุ พบมากในผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 2-3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์) หรือผู้หญิงที่ชอบอั้นปัสสาวะนาน ๆ

ผู้ชายมีโอกาสเป็นโรคนี้น้อยมาก ถ้าพบมักมีความผิดปกติอย่างอื่นร่วมด้วย เช่น ต่อมลูกหมากโต เนื้องอกกระเพาะปัสสาวะ ก้อนเนื้องอกในช่องท้อง มีความผิดปกติทางโครงสร้างของทางเดินปัสสาวะ

สาเหตุ

ส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียกลุ่มแกรมลบ (ที่พบในลำไส้ของคนเรา) เช่น อีโคไล เคล็บซิลลา สูโดโมแนส เอนเทอโรแบกเตอร์ (enterobacter) เป็นต้น เชื้อโรคเหล่านี้มีมากบริเวณทวารหนัก แล้วปนเปื้อนผ่านเข้าท่อปัสสาวะเข้ามาในกระเพาะปัสสาวะ

อาจพบเป็นภาวะแทรกซ้อนของผู้ป่วยเบาหวาน นิ่วกระเพาะปัสสาวะ ผู้ป่วยที่ถ่ายปัสสาวะไม่ได้เนื่องจากเป็นอัมพาต หรือพบภายหลังการสวนปัสสาวะ ภาวะอุดกั้นของทางเดินปัสสาวะ เช่น ต่อมลูกหมากโต มะเร็งต่อมลูกหมาก เนื้องอกกระเพาะปัสสาวะ เนื้องอกมดลูก ก้อนเนื้องอกในช่องท้อง ภาวะตั้งครรภ์ เป็นต้น

ผู้หญิงที่แต่งงานใหม่หรือหลังร่วมเพศ อาจมีอาการขัดเบาแบบกระเพาะปัสสาวะอักเสบ แพทย์เรียกว่า โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบจากฮันนีมูน (honeymoon’s cystitis) สาเหตุเกิดจากการฟกช้ำจากการร่วมเพศ แล้วทำให้มีอาการอักเสบของท่อปัสสาวะ

อาการ

ปัสสาวะกะปริดกะปรอย (ออกทีละน้อยแต่บ่อยครั้ง) รู้สึกปวดขัดหรือแสบร้อนเวลาถ่ายปัสสาวะ อาจมีอาการปวดที่ท้องน้อยร่วมด้วย ปัสสาวะอาจมีกลิ่นเหม็น สีมักจะใส แต่บางรายอาจขุ่นหรือมีเลือดปน

อาการอาจเกิดขึ้นหลังอั้นปัสสาวะนาน ๆ หรือหลังร่วมเพศ

ในเด็กเล็กอาจมีอาการปัสสาวะรดที่นอน อาจมีไข้ เบื่ออาหาร และอาเจียน


ภาวะแทรกซ้อน

ส่วนมากมักจะไม่มีภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง แต่บางรายอาจเป็น ๆ หาย ๆ เรื้อรัง ซึ่งถ้าไม่ได้รับการรักษา เชื้อโรคอาจลุกลามขึ้นไปที่ไต ทำให้กลายเป็นกรวยไตอักเสบได้

ในผู้ชาย เชื้ออาจลุกลามเข้าไปทำให้ต่อมลูกหมากอักเสบ


การวินิจฉัย

แพทย์จะวินิจฉัยเบื้องต้นจากอาการ ประวัติการเจ็บป่วย และการตรวจร่างกาย

การตรวจร่างกายมักตรวจไม่พบสิ่งผิดปกติชัดเจน บางรายอาจคลำได้ก้อนตึง ๆ (ของกระเพาะปัสสาวะที่มีปัสสาวะคั่ง) หรือมีอาการกดเจ็บเล็กน้อยที่บริเวณตรงกลางท้องน้อย

แพทย์จะทำการวินิจฉัยให้แน่ชัดโดยการตรวจปัสสาวะ (พบเม็ดเลือดขาวจำนวนมาก) นำปัสสาวะไปเพาะหาเชื้อ เอกซเรย์ และถ้าจำเป็นอาจต้องใช้กล้องส่องตรวจกระเพาะปัสสาวะ (cystoscopy)


การรักษาโดยแพทย์

นอกจากแนะนำการปฏิบัติตัวสำหรับผู้ป่วยแล้ว แพทย์จะให้การดูแลรักษา ดังนี้

    ถ้าปวดมากให้ยาแก้ปวด และให้ยาปฏิชีวนะ เช่น โคไตรม็อกซาโซล อะม็อกซีซิลลิน โอฟล็อกซาซิน หรือไซไพรฟล็อกซาซิน นาน 3 วัน
    ถ้าไม่ดีขึ้นหรือเป็นซ้ำมากกว่า 2-3 ครั้ง หรือพบโรคนี้ในผู้ชาย แพทย์จะตรวจหาสาเหตุ แล้วให้การรักษาตามสาเหตุที่พบ

ผลการรักษา ส่วนใหญ่อาการทุเลาหลังให้ยาปฏิชีวนะ 24-48 ชั่วโมง แต่อาจกำเริบได้บ่อย หากไม่ดูแลตัวเองในการป้องกันโรค (เช่น ยังชอบอั้นปัสสาวะ)

สำหรับในผู้ชายที่เป็นโรคนี้แล้วไม่ได้ตรวจหาสาเหตุ หรือผู้ป่วยไม่ได้ควบคุมปัจจัยเสี่ยง (เช่น โรคเบาหวาน) หรือไม่ได้แก้ไขสาเหตุ (เช่น เนื้องอกกระเพาะปัสสาวะ เนื้องอกมดลูก ก้อนเนื้องอกในช่องท้อง) ก็อาจเกิดการกำเริบเรื้อรังจนเกิดภาวะแทรกซ้อนได้

การดูแลตนเอง

หากสงสัย เช่น มีอาการปัสสาวะกะปริดกะปรอย (ออกทีละน้อยแต่บ่อยครั้ง) รู้สึกปวดขัดหรือแสบร้อนเวลาถ่ายปัสสาวะ ปัสสาวะอาจมีกลิ่นเหม็น ปัสสาวะขุ่นหรือมีเลือดปน ควรปรึกษาแพทย์

เมื่อตรวจพบว่าเป็นกระเพาะปัสสาวะอักเสบ ควรดูแลตนเอง ดังนี้

    รักษา กินยา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
    ดื่มน้ำมาก ๆ ประมาณวันละ 8-12 แก้ว (2-3 ลิตร) และไม่อั้นปัสสาวะ
    ติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด


ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้

    ดูแลรักษา 24-48 ชั่วโมงแล้วอาการไม่ทุเลา
    มีอาการไข้ หนาวสั่น ปวดสีข้าง ปัสสาวะขุ่น
    ขาดยา ยาหาย หรือกินยาไม่ได้
    กินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม ปวดท้อง ท้องเดิน คลื่นไส้ อาเจียน จุดแดงจ้ำเขียว หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ
    เมื่อรักษาหายดีแล้ว กลับมีอาการกำเริบขึ้นอีก

การป้องกัน

ผู้ที่เคยเป็นโรคนี้ เมื่อรักษาหายแล้วควรป้องกันมิให้เป็นซ้ำโดย

1. พยายามดื่มน้ำมาก ๆ วันละ 8-12 แก้ว (2-3 ลิตร) และอย่าอั้นปัสสาวะ ควรฝึกถ่ายปัสสาวะในห้องน้ำนอกบ้าน หรือระหว่างเดินทางได้ทุกที่ การอั้นปัสสาวะทำให้เชื้อโรคอยู่ในกระเพาะปัสสาวะได้นานจนสามารถเจริญแพร่พันธุ์ ประกอบกับในภาวะที่กระเพาะปัสสาวะยืดตัว ความสามารถในการขจัดเชื้อโรคของเยื่อบุผิวกระเพาะปัสสาวะลดน้อยลง จึงทำให้เกิดอาการอักเสบของกระเพาะปัสสาวะได้ง่ายขึ้น

2. หลังถ่ายอุจจาระ ควรใช้กระดาษชำระเช็ดทำความสะอาดจากข้างหน้าไปข้างหลัง เพื่อป้องกันมิให้นำเชื้อโรคจากบริเวณทวารหนักเข้าสู่ท่อปัสสาวะ

3. สำหรับอาการขัดเบาหลังร่วมเพศ (โรคกระเพาะปัสสาวะจากฮันนีมูน) อาจป้องกันได้โดยดื่มน้ำ 1 แก้วก่อนร่วมเพศ ควรใส่ครีมหล่อลื่นช่องคลอด และถ่ายปัสสาวะทันทีหลังร่วมเพศ

ข้อแนะนำ

1. กระเพาะปัสสาวะอักเสบ พบเป็นสาเหตุอันดับแรก ๆ ของอาการขัดเบา แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีโรคอีกหลายชนิดที่อาจมีอาการแสดงคล้ายโรคนี้ได้อีก ดังนั้น ก่อนให้การรักษาโรคนี้ ควรซักถามประวัติอาการอย่างถี่ถ้วน (ตรวจอาการ "ขัดเบา/ปัสสาวะบ่อย/ปัสสาวะมาก")

2. ในเด็กเล็กที่มีอาการปัสสาวะรดที่นอนบ่อย หรือมีไข้และอาเจียนโดยไม่ทราบสาเหตุ ควรนึกถึงโรคนี้ไว้เสมอ การตรวจปัสสาวะจะช่วยให้วินิจฉัยโรคได้แน่ชัด

3. ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ ควรดื่มน้ำมาก ๆ (ประมาณวันละ 2-3 ลิตร) เพื่อช่วยขับเชื้อโรคออก และช่วยลดอาการปวดแสบปวดร้อนเวลาปัสสาวะ



ตรวจสุขภาพ: กระเพาะปัสสาวะอักเสบ (Cystitis) อ่านบทความเพิ่มเติมคลิ๊กที่นี่ https://doctorathome.com/symptom-checker