ผู้เขียน หัวข้อ: บริการด้านอาหาร: อาหารผู้ป่วยเบาหวาน วางแผนมื้ออาหารลดน้ำตาลในเลือดแบบดีต่อใจ  (อ่าน 15 ครั้ง)

siritidaphon

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 509
    • ดูรายละเอียด
บริการด้านอาหาร: อาหารผู้ป่วยเบาหวาน วางแผนมื้ออาหารลดน้ำตาลในเลือดแบบดีต่อใจ

อาหารสำหรับคนเป็นเบาหวาน อะไรควรเลี่ยง แนวทางวางแผนมื้ออาหารคุมน้ำตาลในเลือดจากนักโภชนาการ และตัวอย่างเมนูอาหารผู้ป่วยเบาหวาน

หลายคนที่มีโรคประจำตัวอย่างเบาหวานหรือมีญาติที่เป็นโรคนี้อาจมีคำถามว่าอาหารผู้ป่วยเบาหวานนั้นหน้าตาเป็นแบบไหน คนเป็นเบาหวานจะต้องปรับพฤติกรรมการรับประทานอย่างไรบ้างเมื่อต้องควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด แล้วจริงไหมที่ต้องเน้นอาหารรสจืดหรือจำใจบอกลาของโปรดบางอย่าง? ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการที่พรีโมแคร์พร้อมไขคำตอบทุกข้อสงสัยให้คุณ

เริ่มต้นวางแผนมื้ออาหารสำหรับผู้ป่วยเบาหวานอย่างไร?

ผู้ป่วยเบาหวานควรเลือกกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ อุดมด้วยสารอาหาร เน้นผักผลไม้ และธัญพืชต่างๆ และหลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันและแคลอรี่สูง ซึ่งทั้งหมดนี้ก็เป็นหลักการรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพที่คนส่วนใหญ่ควรเลือกรับประทานกันอยู่แล้ว เพียงแต่สำหรับคนที่เป็นเบาหวานจะมีการจำกัดปริมาณที่เหมาะสม และอาจต้องรับประทานอย่างเป็นเวลาในทุกวัน

นอกจากนี้ อาหารของคนเป็นเบาหวานก็ใช่ว่าจะต้องมีรสจืดชืด หรือต้องบอกลาอาหารสุดโปรดที่แพทย์สั่งงดไปตลอด ผู้ป่วยยังคงสามารถรับประทานอาหารที่มีน้ำตาลและไขมันได้อยู่ เพียงแต่ต้องลดสัดส่วนให้น้อยลงหรือรับประทานนานๆ ครั้ง ดังนั้น หากยังอยากกินของชอบหรือต้องการวางแผนรับประทานอาหารเพื่อลดระดับน้ำตาลในเลือดแบบไม่ทรมานใจเกินไป ก็สามารถขอคำแนะนำจากแพทย์และนักโภชนาการได้ทุกเมื่อ

อาหารที่ผู้ป่วยเบาหวานควรเลือกกิน

    ผักผลไม้ โดยเน้นรับประทานให้หลากชนิดและหลากสีสันเพื่อคุณค่าทางสารอาหารที่ครบถ้วน สำหรับผลไม้ควรเลือกที่มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ เช่น ฝรั่ง แก้วมังกร แอปเปิล ซึ่งจะส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำตาลในเลือดช้ากว่าผลไม้ที่มีดัชนีน้ำตาลสูง และอย่าลืมว่าการดื่มน้ำผลไม้ไม่สามารถทดแทนการรับประทานผักผลไม้ทั้งลูกในด้านกากใยและสารอาหารได้
    ธัญพืชที่มีกากใยสูง เช่น ข้าวกล้อง ข้าวโอ๊ต บัควีต ขนมปังไม่ขัดสี ขนมปังโฮลวีต อาหารเช้าซีเรียลแบบโฮลวีต ควินัว เส้นก๋วยเตี๋ยวหรือเส้นพาสต้าไม่ขัดสี
    เนื้อสัตว์ไม่ติดมันที่มีคอเลสเตอรอลต่ำ เช่น ไก่ ปลา ส่วนตัวของกุ้ง และไข่
    ไขมันดีจากถั่วต่างๆ และเมล็ดธัญพืช เช่น เมล็ดแฟลกซ์ เมล็ดเจีย เมล็ดฟักทอง เมล็ดทานตะวัน งา รวมถึงน้ำมันมะกอก น้ำมันปลา อะโวคาโด และปลาต่างๆ โดยเฉพาะแซลมอน ทูน่า แมกเคอเรล
    อาหารที่อุดมด้วยโปรตีนชั้นดี เช่น ไข่ ถั่ว โยเกิร์ตที่ไม่มีน้ำตาล นมจืด และผลิตภัณฑ์จากนมอื่นๆ ที่มีไขมันและน้ำตาลน้อย


อาหารที่ผู้ป่วยเบาหวานควรเลี่ยงกิน

    อาหารที่มีไขมันและน้ำตาลสูง เช่น อาหารฟาสต์ฟู้ด อาหารจานด่วน ของทอด ของหวาน
    อาหารที่มีเกลือหรือโซเดียมสูง เช่น ขนมขบเคี้ยว บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป อาหารกระป๋อง
    ธัญพืชที่ผ่านการขัดสี ได้แก่ ขนมปังขาว อาหารเช้าซีเรียลแบบน้ำตาลสูง ข้าวขาว รวมถึงเส้นก๋วยเตี๋ยวและเส้นพาสต้าที่ผ่านการขัดสี
    เนื้อแดงหรือเนื้อสัตว์ใหญ่จำพวกเนื้อหมู เนื้อวัว เนื้อแกะ และเนื้อที่ผ่านการแปรรูป เช่น ไส้กรอก แฮม เบคอน กุนเชียง หมูยอ แหนม
    เครื่องดื่มที่มีน้ำตาล เช่น น้ำผลไม้ นมเปรี้ยว ชานมไข่มุก น้ำอัดลม เครื่องดื่มบำรุงกำลัง


ตัวอย่างเมนูอาหารคนเป็นเบาหวาน

    ข้าวต้มกุ้ง/ข้าวต้มปลา/โจ๊กหมู 1 ถ้วย
    แกงส้มปลากะพงผักรวม/แกงจืดตำลึงเต้าหู้หมูสับ พร้อมข้าวกล้อง/ข้าวสวย 1 ทัพพี
    ผัดผักเห็ด/บร็อคโคลีผัดเห็ดหอม พร้อมข้าวกล้อง/ข้าวสวย 1 ทัพพี
    บุกผัดซีอิ๊วคะน้าไก่
    ลาบเห็ด/ส้มตำไทย, ไก่ย่างไม่ติดหนัง 1 ชิ้น พร้อมข้าวเหนียว 1/2 ถ้วย
    สลัดผัก 1 จาน ใส่น้ำมันมะกอกแทนน้ำสลัดครีม
    เพิ่มผลไม้เล็กน้อยในแต่ละมื้อ เช่น ส้ม/แอปเปิลผลเล็กๆ 1 ผล, แคนตาลูปหั่นชิ้นเล็ก 6-8 ชิ้น, กล้วยหอม/ฝรั่ง/แก้วมังกร 1/2 ลูก, ส้มโอ  2-3 กลีบ


กินอย่างไรเมื่อต้องลดระดับน้ำตาลในเลือด?

การวางแผนมื้ออาหารสำหรับผู้ป่วยเบาหวานเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดนั้นไม่ใช่เรื่องยากอย่างที่คิด และไม่จำเป็นต้องงดอาหารทุกอย่างที่เคยชอบ เริ่มแรกสามารถปรึกษานักโภชนาการอาหาร ซึ่งเป็นผู้ที่จะช่วยแนะนำวิธีการวางแผนและเลือกกินอาหารที่เหมาะกับผู้ป่วยที่สุด โดยหลายวิธีสามารถนำมาปรับใช้พร้อมๆ กันเพื่อผลลัพธ์ที่ดียิ่งขึ้นได้ วิธีที่นักโภชนาการมักแนะนำมีดังนี้


วิธีที่ 1 แบ่งส่วนจานอาหารสุขภาพดี

แบ่งส่วนจานอาหารสุขภาพดี (Diabetes plate method) วิธีที่ช่วยให้ผู้ป่วยเบาหวานวางแผนมื้ออาหารอย่างง่ายที่สุดด้วยการแบ่งสัดส่วนอาหารในจาน

หลักการรับประทานอาหารที่คิดค้นขึ้นโดยสมาคมโรคเบาหวานแห่งสหรัฐอเมริกา (American Diabetes Association) เพื่อให้ผู้ป่วยเบาหวานวางแผนมื้ออาหารอย่างง่ายที่สุดด้วยการแบ่งสัดส่วนอาหารในจาน ไม่ต้องนับแคลอรี่ให้ยุ่งยาก เพียงใช้จานเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 9 นิ้ว แล้วแบ่งส่วนอาหารดังต่อไปนี้

    1/2 ของจาน เป็นผักที่มีแป้งต่ำ เช่น ปวยเล้ง มะเขือเทศ แครอท ถั่วงอก หน่อไม้ หน่อไม้ฝรั่ง บร็อคโคลี่ กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก แตงกวา มะเขือยาว หอมใหญ่ และผักสลัดทั้งหลาย
    1/4 ของจาน เป็นโปรตีนจากเนื้อสัตว์ เช่น เนื้อหมูหรือไก่ไม่ติดมัน ทูน่า แซลมอน
    1/4 ของจานที่เหลือ เป็นธัญพืชเต็มเมล็ด (Whole grain) หรือธัญพืชที่ไม่ผ่านการขัดสี เช่น ข้าวกล้อง ข้าวโอ๊ต ขนมปังโฮลวีต หรือผักที่มีแป้ง เช่น ถั่วเขียว มันฝรั่ง มันเทศ มันสำปะหลัง ข้าวโพด บีทรูท
    เติมไขมันดี เพิ่มถั่วเปลือกแข็ง เช่น อัลมอนด์ พีแคน แมคคาเดเมีย พิตาชิโอ เมล็ดมะม่วงหิมพานต์ เมล็ดธัญพืช หรืออะโวคาโด ในปริมาณเล็กน้อย
    เพิ่มสารอาหารให้ครบถ้วนด้วยผลไม้และผลิตภัณฑ์จากนมไขมันต่ำ และเลือกดื่มน้ำเปล่าหรือเครื่องดื่มที่ไม่มีน้ำตาล เช่น ชา หรือกาแฟ


วิธีที่ 2 นับคาร์โบไฮเดรต

อาหารจำพวกแป้งและน้ำตาลเป็นตัวการสำคัญที่ส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น การคำนวณปริมาณคาร์โบไฮเดรตที่ได้รับในแต่ละวันจึงเป็นอีกวิธีในการควบคุมน้ำตาลในเลือด และยังช่วยให้ผู้ป่วยที่ต้องได้รับอินซูลินสามารถปรับปริมาณอินซูลินให้เหมาะสมตามได้

การนับปริมาณคาร์โบไฮเดรตเป็นวิธีที่มักแนะนำสำหรับผู้ป่วยเบาหวานที่ต้องฉีดอินซูลิน แต่ก็ขึ้นอยู่กับทีมแพทย์และนักโภชนาการที่จะพิจารณาว่าผู้ป่วยแต่ละรายจำเป็นต้องนับคาร์โบไฮเดรตหรือไม่ ซึ่งนักโภชนาการจะมีหน้าที่สอนผู้ป่วยคำนวนคาร์โบไฮเดรตที่ได้รับจากอาหาร โดยให้ความรู้ในเรื่องต่างๆ เช่น

    แนะนำว่าอาหารชนิดใดมีคาร์โบไฮเดรต และควรเลือกรับประทานแบบไหน
    สอนอ่านฉลากโภชนาการเพื่อใช้ในการคำนวณและปรับสัดส่วนคาร์โบไฮเดรตในอาหารแต่ละมื้อ
    วางแผนมื้ออาหารทั้ง 3 มื้อให้ผู้ป่วยตามปริมาณคาร์โบไฮเดรตที่ควรได้รับในแต่ละวัน


วิธีที่ 3 เลือกเมนูที่ชอบตามใจ

ในการวางแผนอาหารผู้ป่วยเบาหวานด้วยวิธีนี้ นักโภชนาการจะให้ผู้ป่วยเลือกอาหารจากรายการในประเภทต่างๆ ที่ควรต้องมีในหนึ่งมื้อ เช่น คาร์โบไฮเดรต โปรตีน และผักผลไม้ ซึ่งในประเภทเหล่านี้ประกอบด้วยตัวเลือกมากมาย แต่ละเมนูมีสารอาหารต่างๆ ในปริมาณใกล้เคียงกัน และส่งผลต่อระดับน้ำตาลในเลือดแบบเดียวกัน ช่วยให้ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้อย่างสม่ำเสมอ ในขณะเดียวกัน ผู้ป่วยก็สามารถปรับเปลี่ยนเมนูต่างๆ ตามใจชอบได้โดยไม่ต้องกังวล


คุมเบาหวาน ต้องวัดค่าดัชนีน้ำตาลในอาหารไหม?

อาหารที่มีดัชนีน้ำตาลสูง (Glycemic Index) ส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดพุ่งสูงไปด้วย การรับประทานอาหารที่มีดัชนีน้ำตาลต่ำจึงเป็นอีกวิธีที่บางคนเลือกใช้เพื่อคงระดับน้ำตาลในเลือด

อย่างไรก็ตาม ประโยชน์ของการควบคุมน้ำตาลในเลือดโดยใช้ค่าดัชนีน้ำตาลยังมีความคลุมเครืออยู่ในปัจจุบัน เพราะค่าดัชนีน้ำตาลไม่ใช่ตัวชี้วัดว่าอาหารชนิดนั้นดีต่อสุขภาพหรือไม่ และหากต้องคอยดูตารางดัชนีน้ำตาลของอาหารต่างๆ ตลอดเวลา อาจทำให้การวางแผนอาหารของผู้ป่วยเบาหวานยุ่งยากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้มีงานวิจัยที่ชี้ว่าการรับประทานโดยเน้นอาหารที่มีประโยชน์ให้มาก และลดอาหารที่เสี่ยงต่อสุขภาพให้น้อยนั้นเพียงพอแล้ว ซึ่งไม่เพียงช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด แต่ยังช่วยส่งเสริมสุขภาพโดยรวมให้แข็งแรงจากการได้รับอาหารที่ดีต่อสุขภาพอีกด้วย

เป็นเบาหวานต้องรับประทานอาหารให้ตรงเวลาไหม?

ผู้ป่วยเบาหวานที่รับประทานยารักษาโรคเบาหวานหรืออินซูลินบางชนิดนั้นควรต้องรับประทานอาหารให้ตรงเวลาและรับประทานให้ครบทั้ง 3 มื้อ ไม่เช่นนั้นอาจส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดต่ำเกินไปได้ แต่ผู้ป่วยที่ฉีดอินซูลินพร้อมมื้ออาหารนั้นอาจมีเวลาการรับประทานอาหารที่ยืดหยุ่นได้ ผู้ป่วยควรสอบถามแพทย์ให้แน่ใจเพื่อรับคำแนะนำที่เหมาะสมกับอาการของตนเอง


ต้องจำกัดปริมาณการกินแค่ไหน?

การรับประทานอาหารในปริมาณที่เหมาะสมเป็นสิ่งสำคัญสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน เพราะจะช่วยในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดและควบคุมน้ำหนัก ซึ่งในส่วนนี้ทีมแพทย์และนักกำหนดอาหารจะเป็นผู้ช่วยหาคำตอบว่าควรรับประทานแค่ไหนและควรได้รับแคลอรี่เท่าไรในแต่ละวัน โดยคำนึงตามสภาวะสุขภาพเฉพาะตัวของแต่ละคน เช่น ในกรณีที่มีน้ำหนักเกินหรือมีโรคอ้วน อาจต้องวางแผนปรับอาหารโดยเน้นลดน้ำหนักร่วมด้วยเพื่อลดความเสี่ยงจากโรคอื่นๆ ที่อาจตามมา การไปพบแพทย์เพื่อติดตามอาการอย่างสม่ำเสมอจึงเป็นเรื่องที่ผู้ป่วยเบาหวานไม่ควรละเลยเป็นอย่างยิ่ง