ผู้เขียน หัวข้อ: หมอประจำบ้าน: หัดเยอรมัน (Rubella)  (อ่าน 11 ครั้ง)

siritidaphon

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 507
    • ดูรายละเอียด
หมอประจำบ้าน: หัดเยอรมัน (Rubella)
« เมื่อ: วันที่ 20 พฤศจิกายน 2024, 14:22:38 น. »
หมอประจำบ้าน: หัดเยอรมัน (Rubella)

หัดเยอรมัน (Rubella) เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส และสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ รวมไปถึงผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ที่เป็นโรคหัดเยอรมัน ก็สามารถส่งผ่านเชื้อทางกระแสเลือดจากแม่สู่เด็กทารกในครรภ์ได้ ซึ่งอาจส่งผลต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการของเด็กทารกได้หลายประการเลยทีเดียว

โดยทั่วไป โรคหัดเยอรมันสามารถติดต่อถึงกันได้ง่ายผ่านทางการการไอ การจาม การสูดเอาเชื้อที่อยู่ในอากาศเข้าสู่ร่างกาย รวมถึงการสัมผัสสิ่งของที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัสจากผู้ป่วย โรคหัดเยอรมันมีความคล้ายคลึงกับโรคหัด (Measles Rubeola) ซึ่งมักทำให้เกิดผื่นแดงขึ้นตามร่างกาย ไข้ขึ้น ต่อมน้ำเหลืองโต แต่โรคหัดเยอรมันเป็นการติดเชื้อไวรัสคนละชนิดกัน และมักมีความรุนแรงของโรคน้อยกว่า


อาการของหัดเยอรมัน

อาการของหัดเยอรมันที่สามารถสังเกตเห็นได้ในช่วงแรกค่อนข้างมีอาการคล้ายกับการติดเชื้อไวรัสทั่วไป ซึ่งหลังจากได้รับเชื้อประมาณ 1–2 วัน ผู้ป่วยมักจะเริ่มมีอาการดังนี้

    มีไข้ต่ำถึงปานกลาง ประมาณ 37.2–37.8 องศาเซลเซียส
    ต่อมน้ำเหลืองโต โดยเฉพาะบริเวณคอ ท้ายทอย และหลังหู
    มีตุ่มนูนหรือผื่นแดงขึ้นกระจายตัวบริเวณใบหน้าก่อนจะลามไปยังผิวหนังส่วนอื่น เช่น แขน ขา และจะค่อย ๆ หายไปภายใน 3 วัน โดยไม่ค่อยทิ้งรอยแผลจากผื่นไว้ ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการคันตามผิวหนังร่วมด้วย

อาการอื่น ๆ ที่สามารถพบได้ทั่วไป โดยมักเกิดขึ้นกับวัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่ เช่น

    ปวดศีรษะ
    คัดจมูก น้ำมูกไหล
    ไม่อยากอาหาร
    เยื่อบุตาอักเสบ ทำให้ตาแดง
    ปวดข้อ ข้อต่อบวม
    ต่อมน้ำเหลืองตามร่างกายมีอาการบวม

ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการเพียงเล็กน้อย หรือไม่มีอาการของโรคก็ได้เช่นกัน และอาการของโรคที่เกิดในเด็กมักจะร้ายแรงน้อยกว่าอาการที่เกิดขึ้นในผู้ใหญ่ที่ไม่ได้รับวัคซีนป้องกันโรค อย่างไรก็ตาม อาการของโรคจะคงอยู่แค่ประมาณ 2–3 วัน ยกเว้นในกรณีที่ต่อมน้ำเหลืองมีอาการบวมอาจคงอยู่นานหลายสัปดาห์ ดังนั้น หากพบอาการข้างต้นเหล่านี้ควรรีบไปพบแพทย์


สาเหตุของหัดเยอรมัน

โรคหัดเยอรมันเกิดจากการติดเชื้อไวรัสชื่อรูเบลลา ไวรัส (Rubella Virus) ที่อยู่ในน้ำมูกหรือน้ำลายของผู้ป่วย ซึ่งสามารถแพร่กระจายสู่ผู้อื่นได้ง่ายโดยการไอ การจาม การสูดเอาเชื้อที่อยู่ในอากาศเข้าสู่ร่างกาย รวมถึงการใช้สิ่งของที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัสจากผู้ป่วย นอกจากนี้ ผู้ป่วยที่กำลังตั้งครรภ์สามารถส่งผ่านเชื้อให้แก่ทารกในครรภ์ผ่านทางกระแสเลือดได้ด้วย

ระยะการฟักตัวของโรคหัดเยอรมันจะอยู่ในช่วง 14–23 วัน โดยเฉลี่ยประมาณ 16–18 วัน ผู้ป่วยสามารถแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นได้ตั้งแต่มีเชื้อในร่างกายแม้จะไม่มีอาการแสดงออกมา ไปจนถึงหลังอาการผื่นขึ้นตามร่างกายหายไปประมาณ 2–3 สัปดาห์เลยทีเดียว


การวินิจฉัยหัดเยอรมัน

หากแพทย์สงสัยว่าผู้ป่วยมีการติดเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคหัดเยอรมัน ในเบื้องต้นจะมีการสอบถามข้อมูลทั่วไป เช่น อาการผิดปกติที่เกิดขึ้น ประวัติการติดต่อกับผู้ป่วยโรคนี้หรือผู้ที่มีผื่นขึ้น และตรวจตามร่างกายว่ามีผื่นขึ้นหรือไม่ จากนั้นจะมีการตรวจน้ำลายและการตรวจเลือด เพื่อช่วยยืนยันผลการติดเชื้ออีกครั้ง โดยรายละเอียดการตรวจน้ำลายและการตรวจเลือด มีดังนี้


การตรวจน้ำลายและการตรวจเลือด (Saliva & Blood Test)

แพทย์จะตรวจหาสารภูมิต้านทานหรือแอนติบอดี (Antibodies) ซึ่งเป็นโปรตีนที่ถูกสร้างขึ้นเมื่อมีเชื้อโรค สารพิษ หรือสิ่งแปลกปลอมเข้าสู่ร่างกาย โดยแพทย์จะเก็บตัวอย่างน้ำลายภายในช่องปากหรือตัวอย่างเลือดของผู้ป่วย แล้วนำไปตรวจหาสารภูมิต้านทานจำเพาะต่อโรคหัดเยอรมัน ได้แก่ สารภูมิต้านทานชนิดเอ็ม (IgM Antibody) และสารภูมิต้านทานชนิดจี (IgG Antibody)

การตรวจหาสารภูมิต้านทานจำเป็นต้องได้รับการตรวจ 2 ครั้ง โดยตรวจครั้งแรกเมื่อมีอาการ และตรวจอีกครั้งหลังจากการตรวจครั้งแรกประมาณ 2–3 สัปดาห์ ซึ่งผลการตรวจหาสารภูมิต้านทานจะแตกต่างกันออกไป และสามารถวินิจฉัยโรคได้ดังนี้

    หากตรวจไม่พบสารภูมิต้านทานชนิดจี แสดงว่าบุคคลนั้นมีแนวโน้มว่าไม่เคยได้รับเชื้อไวรัสหรือเคยได้รับวัคซีนป้องกันโรคหัดเยอรมันแต่ไม่สามารถป้องกันเชื้อได้
    หากตรวจพบสารภูมิต้านทานชนิดจี แต่ไม่พบสารภูมิต้านทานชนิดเอ็ม แสดงว่าผู้ป่วยเคยติดเชื้อไวรัสหรือเคยได้รับวัคซีนป้องกันโรคหัดเยอรมันมาก่อน
    หากตรวจพบสารภูมิต้านทานชนิดเอ็ม โดยอาจพบสารภูมิต้านทานชนิดจีหรือไม่พบก็ได้ แสดงว่าเกิดการติดเชื้อไวรัสขึ้นมาใหม่ ซึ่งระดับของโปรตีนชนิดนี้จะเพิ่มมากขึ้นในระยะเวลา 7–10 วันหลังการติดเชื้อ และจะค่อย ๆ ลดระดับลง
    ในกรณีที่ตรวจไม่พบสารภูมิต้านทานชนิดใดเลย แสดงว่ายังไม่เคยเกิดการติดเชื้อและยังไม่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคหัดเยอรมันมาก่อนเช่นกัน ซึ่งอาจมีความเสี่ยงในการเกิดโรคขึ้นได้ในอนาคตหากได้รับเชื้อ
    สำหรับทารกแรกเกิด หากตรวจพบสารภูมิต้านทานชนิดเอ็ม แสดงว่าได้รับเชื้อในขณะที่มารดากำลังตั้งครรภ์


การรักษาหัดเยอรมัน

โรคหัดเยอรมันมักมีอาการไม่รุนแรงและจะดีขึ้นเองภายใน 7–10 วัน การรักษาโรคไม่มีวิธีที่เฉพาะเจาะจง แต่จะเน้นรักษาตามอาการเป็นหลัก โดยแพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยดูแลตัวเองที่บ้านเพื่อช่วยบรรเทาอาการ เช่น พักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำมาก ๆ เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำและบรรเทาอาการไอ หลีกเลี่ยงในการสัมผัสกับผู้ติดเชื้อ และควรหยุดเรียนหรือหยุดทำงานสักระยะ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่น

หากมีไข้สูงแพทย์จะแนะนำให้รับประทานยาในกลุ่มยาแก้ปวด เช่น ยาพาราเซตามอล (Paracetamol) หรือยาไอบูโปรเฟน (Ibuprofen) เพื่อช่วยลดไข้ บรรเทาอาการปวดหัว และอาการปวดเมื่อยเนื้อตัว แต่ผู้ป่วยที่มีอายุต่ำกว่า 16 ปี ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานยาแอสไพริน (Aspirin) หรือควรปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้ยา และหากไข้ยังไม่ลดอาจเช็ดตัวเพื่อช่วยลดอุณหภูมิของร่างกายร่วมด้วย

หากผู้ป่วยกำลังตั้งครรภ์ แพทย์อาจรักษาด้วยการให้สารภูมิต้านทานที่ชื่อว่าไฮเปอร์ฮีมูน กลอบูลิน (Hyperimmune Globullin) เพื่อต้านเชื้อไวรัสและบรรเทาอาการของโรคให้ดีขึ้น แต่ยังคงมีความเสี่ยงที่ทารกจะได้รับเชื้อจากมารดาได้ จึงอาจต้องมีการพบแพทย์เป็นระยะควบคู่ไปด้วย


ภาวะแทรกซ้อนของหัดเยอรมัน

โรคหัดเยอรมันไม่ค่อยพบภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรง เนื่องจากผู้ที่เคยป่วยเป็นโรคหัดเยอรมันแล้วหรือได้รับการฉีดวัคซีนหัด–หัดเยอรมัน–คางทูม (Measles–Mumps–Rubella: MMR) จะทำให้มีภูมิต้านทานโรคนี้ไปตลอดชีวิต

แต่ในบางรายก็อาจมีภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ได้ เช่น โรคข้ออักเสบที่นิ้ว ข้อมือ และหัวเข่าที่พบเฉพาะในเพศหญิง การติดเชื้อที่หูจนกลายเป็นหูน้ำหนวก การอักเสบของสมองจนพัฒนาเป็นโรคไข้สมองอักเสบ หรือโรคหัดเยอรมันแต่กำเนิดในทารกเมื่อมารดาติดเชื้อในขณะตั้งครรภ์


โรคหัดเยอรมันแต่กำเนิด (Congenital Rubella Syndrome)

หากทารกได้รับเชื้อหัดเยอรมันจากมารดาผ่านทางกระแสเลือด อาจทำให้ทารกที่คลอดออกมาเกิดความผิดปกติทางร่างกาย เช่น พัฒนาการช้า มีความความบกพร่องทางสติปัญญา หูหนวก เป็นโรคต้อกระจกหรือโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด การทำงานของตับ ม้ามและไขกระดูกมีปัญหา ขนาดศีรษะเล็ก และสมองไม่พัฒนา

ในบางรายอาจมีการพัฒนาความผิดปกติในตอนโตขึ้น เช่น โรคเบาหวานชนิดที่ 1 ภาวะต่อมไทรอยด์สร้างฮอร์โมนออกมากว่าปกติหรือน้อยผิดปกติ อาการสมองบวมจนอาจทำให้สูญเสียการควบคุมร่างกาย นอกจากนี้ ทารกจะมีความเสี่ยงในการเป็นโรคหัดเยอรมันแต่กำเนิดเพิ่มมากขึ้น หากเกิดการติดเชื้อในขณะที่อายุครรภ์น้อย โดยเฉพาะในช่วง 20 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์ ดังนี้

    การติดเชื้อในช่วง 10 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์ ทารกมีความเสี่ยงในการเป็นโรคหัดเยอรมันแต่กำเนิดสูงถึง 90% และมักจะเกิดความผิดปกติในการทำงานหลายส่วนของร่างกาย
    การติดเชื้อในช่วงสัปดาห์ที่ 11–16 ของการตั้งครรภ์ ทารกมีความเสี่ยงในการเป็นโรคหัดเยอรมันแต่กำเนิดลดลงมาอยู่ที่ 10–20% และแนวโน้มในการเกิดความผิดปกติน้อยลง
    การติดเชื้อในช่วงสัปดาห์ที่ 17–20 ของการตั้งครรภ์ ทารกมีความเสี่ยงในการเป็นโรคหัดเยอรมันแต่กำเนิดค่อนข้างน้อย และมีรายงานพบเพียงแค่เกิดอาการหูหนวกเท่านั้น
    การติดเชื้อเกิดหลังสัปดาห์ที่ 20 ของการตั้งครรภ์เป็นต้นไป ทารกจะไม่มีความเสี่ยงในการเกิดโรคหัดเยอรมันแต่กำเนิด


การป้องกันหัดเยอรมัน

โรคหัดเยอรมันสามารถป้องกันได้ด้วยการหลีกเลี่ยงในการคลุกคลีกับผู้ป่วย ซึ่งทำให้เสี่ยงต่อการได้รับเชื้อ และควรมีการฉีดวัคซีนหัด–หัดเยอรมัน–คางทูม หรือเรียกสั้น ๆ ว่าวัคซีนรวมเอ็มเอ็มอาร์ (MMR) ตามเกณฑ์ที่กำหนด ซึ่งการฉีดวัคซีนอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงในบางราย เช่น อาการบวมแดงหรือระบมบริเวณที่ฉีด มีไข้ต่ำ ปวดตามข้อ แต่ส่วนใหญ่ไม่อันตรายและอาการจะดีขึ้นภายในไม่กี่วัน

การฉีดวัคซีนรวมเอ็มเอ็มอาร์จะฉีดทั้งหมด 2 เข็ม โดยเริ่มฉีดเข็มแรกเมื่อเด็กมีอายุระหว่าง 9–12 เดือน และฉีดกระตุ้นอีกครั้งเมื่อเด็กอายุ 2 ปี 6 เดือน แต่ในบางรายที่มีความเสี่ยงสูง เช่น อยู่ในพื้นที่มีการระบาดของโรค สัมผัสกับโรค หรือต้องเดินทางไปต่างประเทศ

แพทย์อาจแนะนำให้ฉีดวัคซีนเร็วขึ้นภายในช่วง 6 เดือนแรก และฉีดเข็มที่ 2 ภายในอายุ 2 ปี 6 เดือน แต่ควรเว้นระยะห่างจากเข็มแรกประมาณ 3 เดือน

ผู้ที่วางแผนจะมีบุตรควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัดเยอรมันอย่างน้อย 1 เดือนก่อนการตั้งครรภ์ แต่หากไม่ได้รับวัคซีนก่อนการตั้งครรภ์ควรได้รับทดแทนหลังคลอด เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันโรคเมื่อเกิดการตั้งครรภ์ในครั้งต่อไป และเลี่ยงผลกระทบที่อาจเกิดกับทารกในครรภ์ สำหรับผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ควรเข้ารับการตรวจเลือดหรือระบบภูมิคุ้มกันตามนัดฝากครรภ์อย่างสม่ำเสมอ เพื่อเฝ้าระวังความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้น

แม้ว่าวัคซีนจะเป็นการป้องกันโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่บุคคลบางกลุ่มควรปรึกษาแพทย์ก่อนการฉีดวัคซีน เนื่องจากอาจส่งผลกระทบต่อร่างกายขึ้นได้ เช่น ผู้ที่มีอาการแพ้ยาปฏิชีวนะในกลุ่มนีโอมัยซิน (Neomycin) แพ้เจลาติน (Gelatin) ผู้ป่วยโรคมะเร็ง และผู้ที่มีความผิดปกติของเลือด หรืออยู่ในช่วงการรับประทานยาบางชนิดที่ส่งผลต่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย